ในฤดูฝนป่าไม้ พืชพรรณจะสวยสดชื่นเป็นพิเศษ อากาศไม่ร้อนมาก ตอนกลางคืนจะเย็นสบาย เป็นช่วงฤดูที่นักท่องเที่ยวชมธรรมชาติไม่ควรพลาด การออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งในช่วงนี้จะพบกับการผจญภัยเล็กๆให้ได้ตื่นเต้นกันตลอด การออกไปแคมป์ปิ้งในช่วงนี้ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ให้เราช่วยคุณเตรียมตัวก่อนออกไปท่องเที่ยวในฤดูฝนนี้กัน
1. ฤดูฝนนั้น ฝนจะตก!!
ก่อนจะตัดสินใจออกจากบ้านไปกางเต็นท์ในฤดูฝน ให้ท่านคิดไว้ได้เลยว่าฝนจะตกแน่ๆ และเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรับมือกับฝนไว้ล่วงหน้าเลย เช่น ฟลายชีท ที่แข็งแรง(น้ำหนักมากหน่อยจะดี) มีพื้นที่เพียงพอต่อกิจกรรมที่จำเป็นในช่วงเวลาที่ฝนตก อย่างการหุงหาอาหาร หรือการตากผ้าที่เปียก, แผ่นกราวชีทเอาไว้ปูพื้น และปูรองเต็นท์ไม่ให้น้ำซึมเข้าเต็นท์จากทางด้านล่าง และเต็นท์ที่แน่ใจแล้วว่าไม่รั่วแน่ๆ มีการระบายอากาศได้ดี ท่านจะหลับตานอนได้อย่างมั่นใจ
2. สังเกตพื้นที่ ที่จะกางเต็นท์ให้ดีๆ
ควรไปถึงลานกางเต็นท์ตอนที่ยังมีแสงสว่างพอที่จะมองเห็นพื้นที่ในบริเวณที่เราจะกางเต็นท์ เพื่อสังเกตพื้นที่ว่าเป็นหลุมเป็นบ่อหรือไม่ หรือมีหินก้อนใหญ่ๆซ่อนอยู่ในหญ้า หรือเป็นทางน้ำไหลผ่าน หรือมีมดมีแมลงอะไรหรือไม่ ฯลฯ การไปสำรวจพื้นที่ลานกางเต็นท์ก่อนมืดจึงมีความสำคัญมาก
3. ให้นึกไว้เสมอว่าลมจะแรง!!
ลมมักจะมาก่อนฝน หรือมาพร้อมกันทั้งฝนทั้งลมเลย ดั้งนั้นเมือมาถึงพื้นที่กางเต็นท์ ให้กางฟลายชีทก่อนเลย (จะได้มีพื้นที่หลบฝน เผื่อว่าฝนมาแบบไม่ทันตั้งตัว) เชือกทุกเส้นต้องขึง และดึงให้ตึงเข้าที่ สมอบก ตอกให้ครบ แนะนำว่าควรหาซื้อสมอบกดีๆ มีความยาวและมีพื้นผิวในการสัมผัสดินให้มากๆเพราะพื้นสนามในฤดูฝนดินจะอ่อนมาก
4. ไฟฟ้ามักจะดับในยามฝนตก
ลานกางเต็นท์สมัยใหม่จะมีไฟฟ้าไว้บริการเป็นจุดๆ แต่ในช่วงฤดูฝนไฟจะดับบ่อยมาก ดังนั้นควรเตรียมแบตเตอรี่ชาร์จไฟไปด้วย จะใหญ่หรือเล็ก เลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานของเราได้เลย เรื่องไฟส่องสว่างควรมีให้พร้อม ทั้งไฟส่องสว่างแบบเป็นวงกว้าง ไฟตะเกียงบนโต๊ะหริอโคมไฟในเต็นท์ แนะนำให้เตรียมไฟคาดหัวไปด้วยเพราะอาจมีบางช่วงเวลาที่เราต้องใช้มือทั้งสองข้างในการหยิบจับสิ่งต่างๆ ไฟคาดหัวจะเป็นตัวช่วยที่เป็นประโยชน์มาก
5. อุปกรณ์การทำอาหาร น้ำดื่ม และวัตถุดิบการทำอาหารอย่างง่ายๆ พาไปด้วยไม่เสียหลาย
เตาแก๊ซกระป๋อง แบบใช้กระป๋องยาวจะหาซื้อง่าย ราคาไม่แพง วัตถุดิบประเภทที่ฉีกซองเทน้ำร้อนแล้วกินได้เลย จะช่วยท่านได้มากเวลาเหนื่อยๆจากสถานการณ์ฝนถล่ม
6. ระวังยุง และแมลง อาละวาด!!
หลังฝนตกเสร็จใหม่ๆ ช่วงเย็นๆ หัวค่ำๆ เป็นช่วงทำงานของแมลงนาๆชนิด โดยเฉพาะยุง เวลาเข้าทำงานของคุณยุงไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มตอนหัวค่ำ เลิกงานประมาณ 21.00น. แต่วันไหนอารมณ์ดีๆอาจทำงานต่อแบบยาวๆไป แนะนำให้เตรียมอุปกรณ์เกี่ยวกับการกันยุง และแมลงไปให้พร้อม ถ้าก่อไฟได้ก็ให้ก่อได้เลย ถ้าเป็นภาคใต้จะโยนเกษรตัวผู้ของต้นปาล์มลงไปในกองไฟ เอาควันมาช่วยไล่ยุงไล่แมลงได้ผลดีมากๆ
7. ยาสามัญประจำตัว ต้องพกไปให้พร้อม
หมวดยาประจำตัว/หมวดยากันยุง กันแก้แมลงสัตว์กัดต่อย/หมวดยาแก้แพ้ แก้ไข้/หมวดยาเกี่ยวกับท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ/หมวดทำแผล ฯลฯ การแบ่งยาที่ต้องใช้ออกเป็นหมวดหมู่จะทำให้เราสามารถจัดเตรียมยาที่เราต้องใช้ได้ง่าย และครบถ้วนมากขึ้น ถ้านำไปแล้ไม่ได้ใช้จะดีมาก แต่ถ้าต้องใช้แล้วไม่มีจะลำบากสุดๆขอบอก
8. เฟอร์นิเจอร์ไม่ต้องมาก กางเก็บง่าย พร้อมเคลื่อนย้าย!!
เหตุการณ์ฝนตกลมแรง จนบางครั้งเราต้องหนีเข้าเต็นท์ ข้าวของต่างๆถ้าเก็บไม่ทันจะเริ่มปลิวกระจัดกระจาย โต๊ะไปทาง เก้าอี้ไปทาง ดังนี้ควรเตรียมเฟอร์นิเจอร์ไปเท่าที่จำเป็น ยิ่งพับเก็บได้ง่ายยิ่งดี ยิ่งมีน้ำหนักหน่อยยิ่งดี ถ้าเราไม่ได้แบกเข้าไปในป่า
9. จอดรถไว้ใกล้ๆ
ถ้าไม่ไหวจริงๆก็หนีขึ้นรถสิครับ ถ้าทำตามข้อที่3 และข้อที่8ดีแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวของปลิว เต็นท์พัง มานั่งสบายๆรอฝนสงบในรถได้เลย
10. สุดท้าย++ จิตรใจที่แข็งแกร่ง และมีสติของท่านจะทำให้ท่านรอดพ้นในทุกๆเหตุการณ์ไปได้ด้วยดี ขอพลังจงสถิตอยู่กับทุกท่านครับ
Comments